วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

Part 2 ประวัติความเป็นมาของตระกูลไวทยกุล


            Part 2
ประวัติความเป็นมาของตระกูลไวทยกุล
          นายถึก แซ่ตัน เป็นชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่ เข้ามาอยู่ในประเทศไทย สมัยรัชกาลที่ ๔ ได้มาแต่งงานกับหญิงไทย มีบุตรด้วยกันและทำมาหากินอยู่ในประเทศไทยจนสิ้นชีวิต บุตรชายคนสำคัญของนายถึกชื่อ นายสวน แซ่ตัน(อันที่จริงชื่อสอน เข้าใจว่าผู้เสนอชื่อขึ้นไปในสมัยนั้นคงจะอ่านรายชื่อได้ไม่ชัดจึงพิมพ์เป็นสวน ในที่นี้จะขอใช้ชื่อเรียกว่าสอนอันเป็นชื่อที่ลูกหลานรู้จักกันดี)เป็นผู้ที่นำให้เกิดวงศ์ตระกูลนี้ขึ้น
            เมื่อนายสอนโตเป็นหนุ่ม นายถึกผู้เป็นบิตาก็จัดการให้บวชในศาสนาพุทธ ตามประเพณีของชาวไทยในสมัยนั้น หลังจากนั้นก็จัดการให้แต่งงานมีครอบครัวกับนางสาวทองอยู่ซึ่งเป็นชาวบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา มีบุตร-ธิดาด้วยกัน ๑๒คน เป็นชาย ๗คน เป็นหญิง ๕คน
              นายสอนและนางทองอยู่ได้ย้ายมาอยู่ จ.อยุธยา หลังจากแต่งงานแล้ว
โดยนายถึกผู้เป็นบิดาก็ได้มาอาศัยอยู่กับลูก-หลานในครอบครัวนี้จนสิ้นชีวิต
              ลูกชายคนโตของนายสอนชื่อเด็กชายเจียม แซ่ตัน เป็นเด็กฉลาดเรียนหนังสือเก่ง เมื่อจบชั้นป.๔(ในสมัยนั้น) บิดาได้พาไปสอบเข้าเรียนแพทย์ที่โรงพยาบาลราชแพทยาลัย(โรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบัน) เป็นนักเรียนแพทย์รุ่นที่๓ ของโรงพยาบาล เมื่อจบการศึกษา นายแพทย์เจียม  ได้เข้ารับราชการเป็นนายแพทย์ของกรมทหารเรือ  ในตำแหน่ง แพทย์ประจำกองสรรพาวุธ กรมทหารเรือ นายแพทย์เจียมได้ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่แพทย์ประจำกองฯ ด้วยความวิริยะอุตสาหะ อย่างเต็มความสามารถ ด้วยความที่เป็นคนเก่งและได้รับการเลี้ยงดูจากคุณพ่อสอน-คุณแม่ทองอยู่ ให้เป็นคนมีเมตตากรุณา มีน้ำใจเอื้ออารี ต่อคนทั่วไป จึงทำให้ นายแพทย์เจียมมีชื่อเสียงในการรักษาคนไข้และเป็นที่เคารพรักของคนไข้และคนทั่วไป
                ความดีงาม ความมีน้ำใจโอบอ้อมอารี และความสามารถในการรักษาคนไข้ของนายแพทย์เจียม ได้ทราบถึงพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ พระองค์จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานทินนามและยศให้ใหม่ว่า ขุนสุขบาลบริวัตร(เรือโทเจียม ไวทยกุล) และทรงพระราชทานนามสกุล ไวทยกุล(VAIDYAKULA) ไว้ให้เป็นเกียรติประวัติแก่ครอบครัวนี้ไปจนชั่วลูกหลาน  เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖ ลำดับที่ ๑๓๙๙
เนื่องจากในขณะนั้น นายสอน(บิดา) และนายถึก(ปู่) ยังมีชีวิตอยู่ สกุลไวทยกุล จึงต้องเริ่มต้นจากนายถึก ซึ่งอาวุโสที่สุดในตระกูล นายถึกจึงเป็นต้นตระกูลไวทยกุลเป็นคนแรกในประเทศไทย ลูกหลานทุกคนที่เกิดในตระกูลนี้ทุกคน โดยเฉพาะลูกของนายสอนทุกคน จึงได้นามสกุลไวทยกุลโดยอัตโนมัติ
.........................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น